วัดอัมพาวาส (จังหวัดสุราษฎร์ธานี)
วัดอัมพาวาส | |
---|---|
ชื่อสามัญ | วัดอัมพาวาส, วัดท่าม่วง |
ที่ตั้ง | ตำบลวัง อำเภอท่าชนะ จังหวัดสุราษฎร์ธานี |
ประเภท | วัดราษฎร์ |
นิกาย | มหานิกาย |
สถานีย่อยพระพุทธศาสนา |
วัดอัมพาวาส เป็นวัดราษฎร์สังกัดคณะสงฆ์ฝ่ายมหานิกาย ตั้งอยู่ในตำบลวัง อำเภอท่าชนะ จังหวัดสุราษฎร์ธานี
ประวัติ
[แก้]วัดอัมพาวาส หรือ วัดท่าม่วง ตั้งวัดเมื่อ พ.ศ. 2325 ได้รับพระราชทานวิสุงคามสีมาเมื่อ พ.ศ. 2345 ประวัติความเป็นมาไม่ทราบแน่ชัด แต่จากหลักฐานทางโบราณคดี เจดีย์ที่อยู่ภายในบริเวณวัด สันนิษฐานว่าบริเวณนี้คงเป็นชุมชนเดิมของอำเภอท่าชนะ รูปแบบศิลปกรรมของเจดีย์มีอายุราวสมัยอยุธยาตอนปลายถึงรัตนโกสินทร์ตอนต้น เดิมเข้าใจว่าคงเป็นวัดร้างมาก่อน นอกจากนั้นยังพบหลักฐานทางโบราณคดีอื่น ๆ ที่พบบริเวณชุมชนใกล้เคียงวัดอัมพาวาส ได้แก่ ลูกปัดหินคาร์เนเลี่ยน หินอาเกต หินควอตซ์ ลูกปัดแก้วสีต่าง ๆ[1] และกำไลแก้ว จึงคาดว่าบริเวณนี้คงเป็นเส้นทางการค้าสมัยโบราณร่วมสมัยเดียวกับแหล่งโบราณคดีแหลมโพธิ์ไชยา
ถาวรวัตถุ
[แก้]อาคารเสนาสนะที่สำคัญ ได้แก่ อุโบสถกว้าง 13 เมตร ยาว 19 เมตร สร้างเมื่อ พ.ศ. 2345 ศาลาการเปรียญ เป็นอาคารไม้ทรงไทยชั้นเดียว กุฏิสงฆ์ จำนวน 6 หลัง เป็นอาคารไม้ 4 หลัง และตึก 2 หลัง ศาลาอเนกประสงค์ 1 หลัง สร้างเมื่อ พ.ศ. 2544 เป็นอาคารคอนกรีตเสริมเหล็ก ศาลาบำเพ็ญกุสล จำนวน 2 หลัง สร้างด้วยคอนกรีตเสริมเหล็ก 1 หลัง สร้างด้วยไม้ 1 หลัง หอระฆัง หอกลอง กุฏิเจ้าอาวาส และเรือนรับรอง ปูชนียวัตถุที่สำคัญ ได้แก่ พระประธานประจำอุโบสถ ปางมารวิชัย ขนาดหน้าตักกว้าง 40 นิ้ว สูง 80 นิ้ว สร้างเมื่อ พ.ศ. 2345 พระประธานประจำศาลาการเปรียญ ปางมารวิชัย ขนาดหน้าตักกว้าง 24 นิ้ว สูง 48 นิ้ว สร้างเมื่อ พ.ศ. 2546[2]
เจดีย์เป็นเจดีย์ทรงปราสาทฐานเขียงทรงสูงรูปสี่เหลี่ยมจัตุรัสขนาดด้านละ 5 เมตร สูงประมาณ 70 เซนติเมตร รองรับเรือนธาตุย่อมุมไม้สิบสอง มีซุ้มจระนำทั้งสี่ทิศอาจใช้สำหรับประดิษฐานพระพุทธรูปยืน แต่ก็ไม่มีหลักฐานเหลือให้เห็น องค์เจดีย์ทั้งหลังถูกปกคลุมอยู่ภายใต้รากต้นโพธิ์ใหญ่ ด้านที่สมบูรณ์ที่สุดคือด้านทิศใต้ยังสามารถเห็นลักษณะรูปแบบศิลปกรรมได้ชัดเจนกว่าด้านอื่น เหนือซุ้มจระนำทิศมีซุ้มหน้าบันทำเป็นซุ้มเรือนแก้ว ภายในมีภาพปูนปั้นประดับเป็นรูปเทพนมผุดมาจากดอกบัวอยู่ในร่มพฤกษชาติ มีนก 3 ตัวอยู่บนต้นไม้ส่วนที่อยู่เหนือเรือนธาตุขึ้นไปอยู่ภายใต้รากต้นโพธิ์ยอดเจดีย์หักหมดแล้ว
อ้างอิง
[แก้]- ↑ "วัดอัมพาวาส (วัดท่าม่วง)". แหล่งศิลปกรรมอันควรอนุรักษ์ - สิ่งแวดล้อมศิลปกรรม.
- ↑ "วัดอัมพาวาส (วัดท่าม่วง)". ฐานข้อมูลแหล่งท่องเที่ยวและผลิตภัณฑ์ทางการท่องเที่ยวฮาลาล เชื่อมโยงกับประเทศเพื่อนบ้านในกลุ่มความร่วมมือทางเศรษฐกิจสามฝ่าย อินโดนีเซีย-มาเลเซีย-ไทย.[ลิงก์เสีย]